Saturday, May 31, 2014

ค่ายจิตตปัญญาสำหรับเด็ก “ปลุกฝัน” ตอน “กำเนิดสุดสาคร”

ค่ายนี้จัดโดยครูเหล่นแห่งบ้านขวัญเอย เป็นค่ายที่น่าสนใจมากค่ายหนึ่งและแม่คิดว่าซันน่าจะชอบ ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาด

“เรามิได้เสี่ยงออกผจญภัยเพียงลำพัง มีวีรบุรุษมากมายในอดีตที่เคยออกเดินทางไปก่อน ทุกคนรู้จักเขาวงกตเป็นอย่างดี เราแค่เดินตามเส้นทางของวิถีวีรบุรุษ ที่ๆเราคิดว่าจะเจอความน่ารังเกียจ เราจะเจอพระผู้เป็นเจ้า ที่ๆเราคิดว่าเราจะทำร้ายผู้อื่น เราจะทำร้ายตัวเราเอง ที่ๆเราคิดว่าจะออกไปสู่โลกภายนอก เราจะกลับเข้าสู่ศูนย์กลางภายในตัวเรา ที่ๆเราคิดว่าเราจะอยู่อย่างโดดเดียวลำพังเราจะอยู่กับคนทั้งโลก”
- โจเซฟ แคมแบลล์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง พลานุภาพของเทพปกรณัม The Power of Myth -

เมื่อครั้งเป็นครูโรงเรียนรุ่งอรุณในปีแรกหลังจากจบการละคอน (ที่ธรรมศาสตร์จะใช้คำว่า ละคอนแทนละคร) ได้มีโอกาสสอนวิชาภาษาไทยโดยที่ตัวเองตั้งใจจะนำกระบวนการละครสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย ถือว่าเป็นความฝันแบบอุดมคติของตัวเองในฐานะนักศึกษาการละครสายกระบวนการ ครั้งนั้นอาจารย์ประภาภัทร นิยม ให้พวกครูได้จัดกระบวนการสอนตามความสนใจภายใน ครูเหล่นจึงไม่รีรอที่จะนำละครมาใช้กับวิชาภาษาไทย และรีบหยิบวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร ซึ่งเป็นวรรณคดีไทยที่ประทับใจที่สุดมา มีครูปาด (ศีลวัตร ศุษิลวรณ์) เป็นที่ปรึกษาโครงงานอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการจัดกระบวนการเชิงสมมติให้เด็กๆได้สวมบทบาทเพื่อล้อตอนต่างๆของสุดสาคร หลายๆกิจกรรมที่ทำกันในตอนนั้น (๑๕ ปีมาแล้ว) มีความใกล้เคียงกับกิจกรรมจิตตปัญญาที่ครูเหล่นได้มีโอกาสเรียนรู้เมื่อ ๔ – ๕ ปีมานี้ ที่สำคัญมีกิจกรรมหนึ่งทำให้เด็กหญิงขี้อายคนหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเด็กร่าเริงและเริ่มช่างคุยอย่างชัดเจนเพียงแค่ข้ามคืน แม้แต่เพื่อนๆในห้องหลายคนยังเอ่ยออกมา โครงงานนี้เกิดขึ้นเพียงแค่ปีเดียว เพราะต้องเปลี่ยนโครงงานไปอีก ๒ โครงงานเนื่องจากตัวเองสอนชั้นคละที่เด็กชั้น ป.๒ ป.๓ และ ป.๔ เรียนร่วมกัน จึงไม่สามารถจัดซ้ำได้ หลังจากนั้นตัวเองก็ออกมาตามฝันที่บ้านเกิดต่อ

ผ่านมาจนถึงวันนี้ยังคงคิดว่าเด็กๆควรจะได้มีโอกาสได้สัมผัสกระบวนการเช่นนี้อีก ยิ่งมาเข้าใจและศึกษามิติของตำนาน นิทาน เรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับจิตใจในระดับต่างๆด้วยแล้ว ยิ่งคิดว่าไม่ควรปล่อยให้ประสบการณ์นี้ผ่านเลยไป

สำหรับเด็กๆโดยเฉพาะวัยเจ็ดปีที่สอง (๘ – ๑๔ ปี) เป็นช่วงที่ฐานใจกำลังเติบโตและพัฒนา เด็กๆจำเป็นต้องได้สำรวจภาวะอารมณ์ต่างๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์และสามารถแสดงออกตามความต้องการภายในได้เหมาะสม ยิ่งความเข้าใจอารมณ์ที่เกิดจากการได้เรียนรู้ผ่านการกระทำ ความสัมพันธ์และแบบอย่างที่ดีจะเป็นแม่พิมพ์ทางอารมณ์ให้กับเด็กๆ และหากมีการสร้างสถานการณ์ต่างๆในพื้นที่ที่ปลอดภัยจะเป็นการสำรวจและเรียนรู้ หรือซักซ้อมทางอารมณ์เพื่อที่ว่าเมื่อพวกเขาได้เจอะเจอกับสถานการณ์จริงพวกเขาก็มีทางเลือกมากกว่าการแสดงออกตามความเคยชินที่เป็นอัตโนมัติ

ในมิติของปัญญาจากเรื่องเล่ายิ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ โบราณกาลใช้การสื่อสารความรู้สึก นึกคิด และสภาวะทางจิตวิญญาณผ่านการแสดงทางสัญลักษณ์ อุปมาอุปมัย บ้างผ่านงานศิลปกรรมทั้งหลาย เรื่องเล่า นิทานและตำนานก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ต้องการสื่อสารความลึกซึ้งต่อความเข้าใจโลก และดูเหมือนจะเป็นทักษะของสมองซีกขวาที่มุ่งเน้นการสื่อสารผ่านอารมณ์ ความรู้สึก มิใช่แค่เพียงแต่ข้อความเท่านั้น แต่เป็นการสื่อสารในระดับการรับรู้และเรียนรู้ที่ฝั่งแน่นในระบบความทรงจำของมนุษย์ นอกจากนี้เรื่องเล่า นิทานและตำนานยังทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านได้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับจินตนาการ เพื่อที่จะซึมซับอรรถรสและความเข้าใจโลกในรูปแบบฉบับของตนเอง


บ้านขวัญเอยจึงคิดว่าเราควรสร้างพื้นที่ให้เด็กๆได้สำรวจความรู้สึก นึกคิดของตัวเองต่อสิ่งต่างๆรอบตัวด้วยทักษะของสมองซีกขวาและฐานใจ ให้พวกเขาได้เกิดปัญญาแบบเฉพาะของแต่ละคน นิทานคำกลอนอันเป็นวรรณคดีแต่โบราณจะมิใช่เพียงแค่ท่องจำ แต่จะสร้างการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆมากมาย เช่น โลกภายนอกกับภายในของตน ภาษากับชีวิต วีรบุรุษในตำนาน นิทานกับเมล็ดพันธ์ผู้กล้าในตนเอง สิ่งที่เห็นธรรมดาๆกับเหตุการณ์ที่ซ้อนกันอยู่

แน่นอนส่วนความสนุกของมิต้องพูดถึง เพราะจะเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว มีใครกันบ้างที่ไม่ชอบ “สุดสาคร”

ในค่ายนอกจากเด็กๆจะได้ฟังนิทานคำกลอน เรื่อง พระอภัยมณี ตอน กำเนิดสุดสาคร แล้วเด็กๆยังสัมผัสกิจกรรมหลากหลาย เช่น การสร้างความสัมพันธ์และการออกจากพื้นที่คุ้นเคย สายใยแห่งรักพ่อ แม่ ลูก เกมละครผ่านการเล่นบทบาทสมมติ การทดลองความท้าทายในด่านต่างๆเพื่อพิสูจน์จิตใจตนเองล้อกับเรื่องสุดสาคร แบบแผนวีรบุรุษในใจฉัน สุนทรียสนทนาแบบเด็กๆ การแสดงละครสร้างสรรค์แบบด้นสด

กระบวนกรหลัก คือ ครูเหล่น นักการละครการศึกษาและกระบวนกรจิตตปัญญา ผู้คลุกคลีทำงานด้านการศึกษา เด็กและเยาวชนมายาวนาน ร่วมกับ ครูอุ๊บอิ๊บ อดีตอาจารย์สาขาศิลปะการละคอน คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเคยเป็นนักแสดงด้านการเคลื่อนไหวในการแสดงหลายเรื่องทั้งในและต่างประเทศ และทีมผู้ช่วยกระบวนกรสมทบ


***************************************

งานนี้แม่ไม่ได้อยู่ด้วย ก็เลยไม่รู้รายละเอียดของกิจกรรมมากนัก แต่ก็เชื่อว่าสนุกสนานและลึกซึ้ง ได้คุณประโยชน์แก่เด็กๆอย่างแน่นอน เพราะคุณเหล่นเล่นด้านจิตใจค่อนข้างมาก และปฏิกิริยาของซันตอนกลับบ้านมาแต่ละวันก็ดีทีเดียวค่ะ

วันแรก มาลงทะเบียน และเจอเพื่อนๆที่รู้จักบางคนด้วย เปิดตัวด้วยกิจกรรมวงกลมกันก่อน








จากนั้นก็เป็นกิจกรรมต่างๆ เชิญชมได้จากภาพประกอบค่ะ











ศิลปะ ความเป็นแม่ และความอ่อนโยน









สุดสาครลงน้ำ 555 ลีลาแต่ละคนกินกันไม่ลงเลย






สุดสาครถักเชือกคล้องม้า และไปขี่ม้าที่คลองลัดมะยม








กิจกรรมวันสุดท้ายที่ผู้ปกครองร่วมรับชม เด็กๆค้นพบความงดงามของตนเองว่าเขาเป็นสุดสาครแบบไหน และแสดงออกมาให้ทุกคนได้รับรู้






ขอบคุณครูเหล่นและทีมงานทุกคนค่ะ สำหรับกิจกรรมดีๆที่สร้างสรรค์และงดงามเช่นนี้

1 comment:

  1. Sometime it becomes very hard to find a well written and well established bog which give you correct and useful information. However, I found this blog and got some relevant information which are really helpful for me.หนังสือ สำหรับ เด็ก

    ReplyDelete